Home Shopping Contact Us About Me

วันอังคารที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

วันภาษาไทยแห่งชาติ

วันภาษาไทยแห่งชาติ

วันภาษาไทยแห่งชาติ ตรงกับวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ของทุกปี เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ในวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปทรงอภิปรายเรื่อง “ปัญหาการใช้คำไทย” ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิที่ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ที่มาและความสำคัญ
๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานและทรงอภิปรายเรื่อง “ปัญหาการใช้คำไทย” ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งทรงแสดงพระปรีชาสามารถและความสนพระราชหฤทัยห่วงใยในภาษาไทย จนเป็นที่ประทับใจผู้เข้าร่วมการประชุมครั้งนั้นเป็นอย่างยิ่ง[1] [2]
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสตอนหนึ่งความว่า

เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษานี้ก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียง คือ ให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่า วิธีใช้คำมาประกอบประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สาม คือ ความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้...สำหรับคำใหม่ที่ตั้งขึ้นมีความจำเป็น ในทางวิชาการไม่น้อย แต่บางคำที่ง่ายๆก็ควรจะมี ควรจะใช้คำเก่าๆที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ควรจะมาตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก
รัฐบาลได้ประกาศให้วันนี้เป็นวันสำคัญ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๒

วัตถุประสงค์
คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันอังคารที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๔๒ เห็นชอบให้วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ของทุกปีเป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ [3]
๑. เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงเป็นนักปราชญ์ และนักภาษาไทย รวมทั้งเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ได้ทรงแสดงความห่วงใย และพระราชทานแนวคิดต่างๆ เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย
๒. เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒
๓. เพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกของคนไทยทั้งชาติให้ตระหนักถึงความสำคัญและคุณ ค่าของภาษาไทย ตลอดจนร่วมมือร่วมใจกันทำนุบำรุงส่งเสริม และอนุรักษ์ภาษาไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และเป็นสมบัติวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติให้คงอยู่คู่ชาติ ไทยตลอดไป
๔. เพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการใช้ภาษาไทย ทั้งในวงวิชาการและวิชาชีพ รวมทั้งเพื่อยกมาตรฐานการเรียนการสอนภาษาไทยในสถานศึกษาทุกระดับให้มี สัมฤทธิผลยิ่งขึ้น
๕. เพื่อเปิดโอกาสให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐบาลและเอกชนทั่วประเทศมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อเผยแพร่ความรู้ภาษาไทยในรูปแบบต่างๆ ไปสู่สาธารณชนทั้งในฐานะที่เป็นภาษาประจำชาติ และในฐานะที่เป็นภาษาเพื่อการสื่อสารของทุกคนในชาติ
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น